หน้าเว็บ

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562

รู้จัก!! “ข้อหารือภาษีอากร” เรื่องสําคัญที่เอสเอ็มอีไม่เคยรู้

รู้จัก!! “ข้อหารือภาษีอากร” เรื่องสําคัญที่เอสเอ็มอีไม่เคยรู้

วารสาร K SME Inspired ฉบับที่65 ประจำเดือน กันยายน 2562

โดยศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Network Advisory Team Ltd.








รู้จัก!! “ข้อหารือภาษีอากร” เรื่องสําคัญที่เอสเอ็มอีไม่เคยรู้

โดย ศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Network Advisory Team Ltd.



ในการทําธุรกิจเรามักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการมาเยือนของเจ้าหน้าที่สรรพากร และเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อแวะมาแล้วจะไม่มีการกลับไปมือเปล่า การมาตรวจสอบจะต้องมีประเด็นที่มาแจ้งว่าเรามีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง
ทุกครั้งที่ผู้ประกอบการได้รับแจ้งว่ามีประเด็นความผิด หน้าที่ของเราคือ ต้องปกป้อง ตัวเองก่อน แต่คําถามคือ เราจะมีวิธีใดในการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการมาเยือนของ เจ้าหน้าที่สรรพากร ในการตรวจสอบและได้รับแจ้งประเด็นความผิด ซึ่งถ้าเราพิสูจน์ได้ว่า เราไม่ได้ทําผิดและเจ้าหน้าที่ฯ ยอมรับได้ เราก็จะหลุดจากประเด็นนั้นๆ ไป
วิธีหนึ่งที่ผู้เขียนใช้มาตลอดชีวิตการทํางานด้านบัญชี-ภาษี คือ การพึ่งพาข้อหารือของกรมสรรพากร ในการปกป้ององค์กรให้พ้นจากประเด็นความผิด ซึ่ง “ข้อหารือ” ที่ว่านี้ก็คือ หนังสือตอบจากกรมสรรพากรถึงผู้เสียภาษีที่มีข้อข้องใจเกี่ยวกับ ภาษีในธุรกิจที่ทําอยู่ จึงทําจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงกรมสรรพากร เพื่อเล่าให้ข้อมูลและสอบถามปัญหาข้อข้องใจที่เกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆ เมื่อฝ่ายกฎหมายของกรมสรรพากรวินิจฉัยแล้ว จะมีจดหมายตอบไขข้อข้องใจถึงกิจการนั้นโดยตรง และกรมสรรพากรก็ยังใจดีเปิดเผยข้อมูลข้อหารือให้สาธารณชนทราบเป็นกรณีศึกษา บนเว็บไซต์หรือนิตยสารของกรมฯ โดยไม่เปิดเผยชื่อองค์กรที่ถาม
สําหรับวิธีใช้ประโยชน์จากข้อหารือ คือ เป็นการค้นหาข้อหารือที่มีลักษณะ ธุรกิจที่คล้ายกับเรา อาจจะใช้คําตอบจากข้อหารือเหล่านี้มาเทียบเคียงกับวิธีที่เราปฏิบัติอยู่ หากตรงกันก็สบายใจ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ตรงก็ยังไม่สายที่จะปรับเปลี่ยนให้ตรง จากนั้นให้แยกเก็บสําเนาข้อหารือไว้เป็นแฟ้มพิเศษ เพราะจากที่เคยประสบกับตนเองมาก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรมาตรวจและขอเก็บภาษีเพิ่ม เพราะประเมินว่าเราทําผิด แต่ที่เราทํานั้นตรงกับคําตอบในข้อหารือ เราก็นําเอาสําเนาข้อหารือที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ที่เก็บไว้ในแฟ้มพิเศษนั้นมาแสดงเป็นหลักฐานว่าได้ทําตามข้อหารือ
ส่วนใหญ่ 95% ของเจ้าหน้าที่จะยอมรับและยอมให้ประเด็นความผิดนั้นตกไป ส่วน 5% ที่เหลือถ้าเดิมพันเรื่องภาษีนั้นสูงมาก เจ้าหน้าที่บางท่านจะบอกว่า จะยอมรับ ก็ต่อเมื่อเป็นข้อหารือที่เป็นเรื่องที่ท่านเอาข้อมูลนี้ไปหารือและกรมสรรพากรตอบมาในชื่อท่านเอง ถ้าเจอเช่นนี้ก็งานเข้า อาจจะเหนื่อยหน่อย ให้ดูว่ายอดภาษีที่จะโดนให้ เสียนั้นว่าคุ้มค่ากับการหารือหรือไม่ ถ้ามียอดสูงเป็นเดิมพัน ท่านต้องรออะไรอีกล่ะ!


การนําข้อหารือไปแสดงกับเจ้าหน้าที่นั้นมีข้อดีหลายประการ
» ประการแรก คือ มีหลักฐานซึ่งเป็นคําตอบจากกรมสรรพากรเองถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง
» ประการที่สอง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของท่านให้เจ้าหน้าที่สรรพากรทราบว่า ท่านมีความตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยการทําการบ้าน ศึกษาข้อหารือที่เกี่ยวข้องมาก่อน
» ประการที่สาม ช่วยอํานวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบ เพราะสามารถแนบข้อหารือ ไปอ้างอิงกับหัวหน้าประกอบคําให้การของท่าน


ในส่วนของการจัดทําข้อหารือของตนเองนั้น ก่อนอื่นต้องทุ่มเททําการบ้านสักหน่อย คือ ค้นหาข้อหารือหลายๆฉบับที่มีกรณีศึกษาเดียวกับท่าน และขอย้ำว่าต้องดูข้อหารือที่เป็นปัจจุบันที่สุด เพราะกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ถ้าได้คําตอบตรงกันหมด กับแนวที่ท่านปฏิบัติอยู่ก็ง่ายหน่อย เสร็จแล้วให้นําข้อมูลนี้ไปหานิติกรที่จะช่วยตอบปัญหาให้กับท่าน เพื่อสอบถามและขอคํายืนยันว่า ข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ท่านเดินตามข้อหารือนี้ถูกต้องหรือไม่ ถ้ามีข้อโต้แย้งก็กลับไปทําการบ้านใหม่ จนได้รับคําตอบที่มั่นใจ แล้วค่อยร่างเป็นจดหมายส่ง โดยทําสําเนาฉบับหนึ่งเพื่อประทับตราบันทึกเลขรับ หลังจากนั้นคอยติดตามจนได้รับคําตอบ
หากคําตอบออกมาตรงกับใจก็นําไปแสดงกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้เขาปิดเรื่อง แต่ถ้าไม่ตรงท่านก็ต้องยอมปรับวิธีปฏิบัติใหม่ให้ถูกและเจรจาขอลดหรืองดเบี้ยปรับเพื่อเสียภาษีต่อไป


วิธีค้นหาข้อหารือในเว็บไซต์กรมสรรพากร
1 เข้า Website กรมสรรพากร : www.rd.go.th  
2 คลิกเข้าสู่หน้าหลัก  
3 คลิกคําว่า อ้างอิงที่มุมบนขวา  
4 จากนั้นคลิกคําว่า ข้อหารือภาษีอากร บริเวณ เมนูด้านซ้ายมือ  
5 จะเข้าสู่หัวข้อข้อหารือ ในเดือนและปีล่าสุดที่กรมฯ นํามาลง โดยผู้ประกอบการสามารถค้นหาเดือนหรือปีอื่นๆ เพื่อหากรณีศึกษาที่สนใจและจัดเก็บไว้ในแฟ้มพิเศษ เพื่อใช้อ้างอิงกับเจ้าหน้าที่สรรพากรหากถูกตรวจสอบในอนาคต

K SME Inspired #65 Page 61 - 65



สามารถอ่านบทความอื่น คุณศิริรัฐ โชติเวชการ ได้ที่ https://www.thaiaccounting.com/article