หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

นโยบาย เอสเอ็มอีบัญชีเดียว… น้ำขึ้นให้รีบตัก



นโยบายเอสเอ็มอีบัญชีเดียว......น้ำขึ้นให้รีบตัก
โดย คุณศิริรัฐ โชติเวชการ
ลงในนิตยสาร K SME Inspired NO.50 June 2018




นโยบายเอสเอ็มอีบัญชีเดียว......น้ำขึ้นให้รีบตัก
โดย คุณศิริรัฐ โชติเวชการ

ความน่าสนใจ 
  • อย่าให้ความกลัวเรื่องเสียภาษี มาตัดโอกาสในอนาคต 
  • เพราะภายใต้มาตรการบัญชี เล่มเดียวภาครัฐเข็นนโยบายออกมาเอาใจกันสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง การยกเว้นและลดภาษีนิติบุคคล การลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน นิติบุคคล 
  • อีกทั้งเป็นการปรับโหมดบัญชี เข้าสู่มาตรฐานสากล ใช้บัญชีออนไลน์สามารถเชื่อมต่อกับ การค้าขายแบบ e-Commerce สามารถเข้าถึงได้ง่ายแม้กระทั่งสมาร์ตโฟน จนแทบไม่ต้องอาศัยนักบัญชี
ในมุมมองของผู้เขียนในฐานะนักบัญชี ผลงานโดดเด่นของรัฐบาลชุดนี้ที่กล้าคิดกล้าทำคือ นโยบาย
เอสเอ็มอีบัญชีเดียว เพราะจะสร้างคุณูปการในระยะยาวอย่างมหาศาลให้แก่เอสเอ็มอีและประเทศชาติ

เท่าที่ทราบ แม้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่สมัครเข้าโครงการมาตรการบัญชีชุดเดียวและการยกเว้นและลดอัตรา
ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอีบัญชีเล่มเดียวของกรมสรรพากรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แต่นั่นก็เป็น
เพราะถูกขอร้องแกมบังคับจากสรรพากรพื้นที่ที่ธุรกิจสังกัดอยู่ แต่ในทางปฏิบัติ เอสเอ็มอีอาจลังเลสงสัยในหลายเรื่อง เช่น ไม่แน่ใจว่างานนี้โดนภาครัฐหลอกให้เข้าระบบหรือไม่ หรือ ไปต่อไม่เป็นว่าระบบบัญชีเล่มเดียวต้องทำอย่างไร หรือไม่แน่ใจว่าถ้าทำบัญชีเล่มเดียวแล้วจะมีภาระภาษีเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ 

อันที่จริง นโยบายบัญชีเดียวนั้น คนที่ได้ประโยชน์เต็มๆคือ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้โอกาสในการฝ่าคลื่นการบริหารจัดการแบบเก่าๆ ไปสู่การบริหารที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัลที่การค้าขายไม่ได้อยู่ในวงแคบเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถขยายตลาดออกไปได้ทั่วโลกด้วยช่องทางออนไลน์ขอเพียงมีสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่การค้าขายในเวทีโลกนั้นจำเป็นที่จะต้องรู้ตัวเลขต้นทุนและกำไรขาดทุน อย่างทันการณ์จึงจะเติบโตได้และเมื่อทุกธุรกิจเติบโตแข็งแกร่ง เศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะแข็งแกร่งไปด้วย

เราได้เห็นความล่มสลายของธุรกิจมากมายที่ปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ในอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้นยืนอยู่ พฤติกรรมของผู้บริโภคกำลังมุ่งไปสู่การซื้อของออนไลน์กันหมดแล้ว ถ้าเราไม่ปรับตัวก็มีหวังจะถูกสึนามิจากเศรษฐกิจยุคดิจิทัลกวาดให้หายไปจากวงการได้เช่นกัน

ในเมื่อต้องปรับตัวทั้งที เราควรจะปรับระบบให้เป็นสากลไปเลย ด้วยการทำบัญชีเล่มเดียวที่ทันสมัยด้วยการใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ (Cloud) ที่สามารถบันทึกและเข้าถึงข้อมูลผ่านอุปกรณ์ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น PC, Tablet, Mobile Phone หรือแม้กระทั่ง Smart Watch ทำให้ทุกๆ ฝ่ายในธุรกิจตั้งแต่ผู้บริหาร เซลส์แมน นักบัญชี ทำงานประสานกันง่าย และสะดวกขึ้นมากในการขาย การจัดการบัญชีและการดูผลประกอบการทางบัญชีได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วเพราะระบบบัญชีแบบ Cloud นั้น ทุกคนจะทำงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน มีระบบรองรับให้ทำบัญชีได้ง่ายจนแทบไม่ต้องอาศัยนักบัญชีให้ปวดหัวต่อการเข้า-ออกของนักบัญชีอีกต่อไป

ความหมายที่ซ่อนไว้ของบัญชีเล่มเดียวคือการลงบัญชีแบบครบถ้วน เพื่อที่จะได้รายงานทางการเงินที่สมบูรณ์มาใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจ และภายใต้มาตรการบัญชีเล่มเดียวนั้นทั้งกรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต่างก็เข็นนโยบายออกมาเอาใจกันสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง การยกเว้นและลดภาษีนิติบุคคล การลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนิติบุคคล จึงนับเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้เริ่มต้นใหม่แบบน้ำขึ้นให้รีบตัก อย่าให้ความกลัวเรื่องเสียภาษีมาตัดโอกาสในอนาคตของท่านเพราะเรื่องภาษีนั้น

ท่านคงทราบดีว่า ระบบการตรวจสอบภาษีแบบใหม่ของกรมสรรพากรที่เรียกว่า RBA (Risk Based Audit Approach) ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสอบและวิเคราะห์หาความผิดปกติในการเสียภาษีของผู้เสียภาษี และสั่งให้ตรวจสอบจากส่วนกลางโดยตรง ไม่สามารถมีระบบเลือกที่รักมักที่ชังเหมือนแต่ก่อน ถ้าเราไม่เข้าระบบบัญชีเล่มเดียวแต่ยังเดินตามวิธีเดิมที่ไม่แสดงยอดขายแบบครบถ้วนเพื่อเสียภาษีให้น้อยเข้าไว้นั้น วิธีเดิมๆจะไม่สามารถเล็ดลอดการตรวจสอบของกรมสรรพากรได้อีกต่อไปแล้ว และถ้าเราถูกตรวจสอบย้อนหลังและพบความผิด ภาระภาษีและเบี้ยปรับอาจจะทำให้เม็ดเงินที่หามาทั้งหมดต้องมีอันส่งต่อให้กรมสรรพากรไปอย่างน่าเสียดาย การลงบัญชีให้ครบถ้วนแล้วมาใช้วิธีการวางแผนภาษีให้มีการเสียภาษีแบบถูกต้อง แต่ประหยัดภาษีดูจะเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า

ดังนั้น การเลือกโปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่สามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรมที่รองรับการจัดการการค้าขายแบบ e-Commerce เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการขาย ต่อลูกค้า และสามารถเชื่อมข้อมูลการขาย ข้อมูลสต็อกแบบ Real Time เข้าสู่โปรแกรมบัญชี เพื่อลดภาระด้านการจัดการข้อมูลเอาเวลาไปทำตลาดให้กว้างสู่ตลาดโลก สร้างแบรนด์ให้แข็ง ให้เป็นที่รู้จัก บางทีนอกจากยอดขายและกำไรเติบโตขึ้นแล้ว อาจจะมีกิจการต่างชาติมาขอซื้อ หรือ ร่วมทุนในกิจการของเราในราคาที่สูงและคุ้มค่าพอที่จะตัดสินใจขายหรือเปิดโอกาสในการร่วมทุนดังที่เราเคยเห็นในอดีตที่เจ้าของแบรนด์ดังหลายๆคนร่ำรวยในพริบตาโดยไม่ต้องซื้อหวยด้วยการขายกิจการให้ต่างชาติ และเราต้องทราบว่าการที่ต่างชาติจะมาซื้อหุ้นนั้น เขาย่อมจะขอดูและตรวจสอบงบการเงินก่อนเป็นอันดับแรกว่าโปร่งใสเชื่อถือได้หรือไม่ ถ้าถึงเวลานั้นแล้วระบบบัญชีเราไม่พร้อมต่อการถูกตรวจสอบเงินก้อนใหญ่นั้นก็อาจจะหลุดลอยไป อย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น ไม่ต้องลังเลสงสัยเรื่องบัญชีเล่มเดียวอีกต่อไป โอกาสที่ดีมาถึงแล้วนึกถึงอนาคต อันสดใสที่รออยู่แล้ว กระโจนใส่มันเลยแบบ น้ำขึ้นให้รีบตักค่ะ


วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

Cloud based accounting software

บทความ Cloud Based Accounting Software
โดย.. นางสาวศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชี
กรรมการผู้จัดการบริษัท Network Advisory Team Ltd. (NAT)
ลงใน จดหมายข่าวสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 66 เดือนมิถุนายน 2561




Cloud based accounting software
ดังที่เคยเกริ่นไว้ในฉบับก่อนหน้านี้แล้วว่าการพัฒนาของโปรแกรมบัญชีกําลังเปลี่ยนจาก Desktop เป็นระบบ
Cloud หรือที่ในบ้านเราเรียกว่าโปรแกรมบัญชีออนไลน์ จุดเด่นของ Cloud based accounting software อัน
เป็นที่ ยอมรับในระดับสากลก็คือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความถูกต้องของข้อมูลในงานบัญชีมากขึ้น เรามาดูกัน
ว่าประโยชน์ อันหลากหลายของ Cloud based accounting software มีอะไรบ้าง

1. ความยืดหยุ่นในการทํางาน
มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงเนื่องจากการเก็บและประมวลผลข้อมูลที่เปลี่ยนไปเป็นฐานข้อมูลบน Cloud based server
การเข้าใช้งานง่ายไม่ต่างจากการที่เราเข้าใช้งาน Facebook หรือ Google เมื่อสมัครใช้บริการ เราก็สามารถกําหนดรหัสผู้ใช้
(User name) และรหัสผ่าน (Password) ให้กับผู้ใช้งานโดยสามารถกําหนดขอบเขตการใช้งานของ แต่ละคนได้ เพียงใช้
รหัสดังกล่าวในการ Log-in เข้าใช้งาน เท่านั้น ฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นักบัญชี แผนกขาย ผู้บริหาร ฯลฯ สามารถบันทึกและ
เข้าถึงฐานข้อมูลเดียวกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้จากทุกมุมของโลกผ่านหลากหลายอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง
คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต โทรศัพท์มือถือ หรือ แม้กระทั่งโทรศัพท์อัจฉริยะอย่าง Apple Watch เป็นต้น

2. ทําให้มีข้อมูลธุรกิจที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน (Real time) มาใช้ในการตัดสินใจ
จากความยืดหยุ่นในการทํางาน ที่จากหลากหลายฝ่าย หลายหน้าที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ฐานข้อมูลเดียวกัน ผู้บริหารและ
ฝ่ายต่างๆจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน (Real time) ที่ผ่านการประมวลผลในทันทีมาใช้ในการตัดสิน ใจอย่างรวดเร็ว
โดยไม่ต้องรอฝ่ายบัญชีกลับไปรื้อค้นเอกสาร หรือทํารายงานขึ้นมาใหม่ให้อีกต่อไป แถมยังได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้มาก
ขึ้นเพราะไม่ได้มาจากการบันทึกซ้ำซ้อน ที่ต้องโอนข้อมูลมาจากหลากหลายฐานข้อมูลเหมือนระบบเดิม โอกาสของความผิด
พลาดจึงมีน้อยลง

3. ข้อมูลบัญชีจากฝ่ายต่าง ๆ เชื่อมโยงไปถึงฝ่ายบัญชีได้ทันที
ทิศทางการพัฒนาของ Cloud based accounting Software จะใช้นวัตกรรมใหม่ในการเชื่อมข้อมูล (Sync) จาก ฝ่ายต่าง ๆ
ในกิจการมาสู่ระบบบัญชีโดยอัติโนมัติจึงลดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบัญชีกับฝ่ายต่าง ๆ ในการทวงถามข้อมูลและประหยัด
เวลาในการทํางานมากขึ้น

4. การเชื่อมโยงข้อมูลจากโปรแกรมอื่น ๆ มายังระบบบัญชีทําได้สะดวกและง่ายขึ้น
ผู้พัฒนา Cloud based accounting software มักจะเปิดกว้างให้โปรแกรมธุรกิจในระบบอื่น ๆ ที่ใช้ Cloud based เช่น
Payroll, POS, Time sheet, Inventory ฯลฯ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านเทคโนโลยี API (Application Programming
Interface) มายังระบบบัญชีได้เลย โดยที่นักบัญชีไม่ต้องมาบันทึกซ้ําอีก

5. ประหยัดค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ Cloud based accounting software จะเป็นการจ่ายค่าบริการรายเดือน ซึ่งแบ่งเป็นหลายระดับตามความ
จําเป็นในการใช้งาน จึงไม่ต้องเสียเงินก้อนโต ในการลงทุนซื้อซอฟท์แวร์ ซื้อเซอร์ฟเวอร์ในการจัดเก็บและจ้างบุคคลากร
ไอทีมาดูแลระบบอีกต่อไปเพราะทุกอย่างรวมไปถึงค่า Upgrade ซอฟท์แวร์ได้รวมอยู่ในค่าบริการรายเดือนที่เลือกใช้แล้ว
โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแต่อย่างใด จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

ดังนั้นสิ่งที่นักบัญชียุค 4.0 ควรตระหนักคือ Think data flow,Not data entry คือ ข้อมูลจะต้องถูกบันทึกครั้งเดียว
จากแหล่งเดียวและใช้เทคโนโลยีใหม่ในการเชื่อมโยงไปใช้ในระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องมีการบันทึกซ้ำอีก
และสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นจากการก้าวเข้าสู่ Cloud based accounting software โดยลองหา ใน Google ดูว่าตัว
ไหนน่าสนใจ ปกติเขาจะมีระยะเวลาให้เราทดลองใช้ 1 เดือน จึงอยากให้ไปทดลองใช้กันดู มีทั้งซอฟท์แวร์ที่พัฒนา
ในไทยและต่างประเทศให้เลือกค่ะ สําหรับฉบับต่อไปจะมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับ Mobile Accounting ค่ะ อย่าลืม
ติดตามกันนะคะ

โดย นางสาวศิริรัฐ โซติเวชการ กรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชี
Newsletter • Issue 66 Page 16-17

พัฒนาการของระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ที่น่าจับตามอง


บทความ พัฒนาการของระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ที่น่าจับตามอง
โดย.. นางสาวศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชี
กรรมการผู้จัดการบริษัท Network Advisory Team Ltd. (NAT)
ลงใน จดหมายข่าวสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 65 เดือนพฤษภาคม 2561


พัฒนาการของระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ที่น่าจับตามอง
โลกแห่งเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเกิดผลกระทบกับทุกภาคส่วน เราเคยได้ยินและเริ่มเห็นกันแล้วว่า
การพัฒนาของเทคโนโลยี อาจจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่กวาดผู้คนในอาชีพต่าง ๆ ให้ตกงาน เราเริ่มเห็นห้างสรรพ
สินค้าในประเทศไทยให้เครื่องสแกนเนอร์มาเก็บเงินแทนแคชเชียร์ หรือร้านอาหารชื่อดังทดลองใช้หุ่นยนต์มา
เสริฟแทนคน แม้กระทั่งโรงงานที่ไร้คนงาน เพราะใช้การทำงานโดยอัตโนมัติของเครื่องจักรตั้งแต่ขั้นแรกของ
กระบวนการผลิต จนถึงบรรจุเป็นหีบห่อขึ้นรถ ในวงการบัญชีมีหรือจะน้อยหน้าใคร ทิศทางการพัฒนาของระบบ
บัญชีคอมพิวเตอร์กำลังก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง มาดูกันเลยค่ะว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

1.Cloud based Accounting Software
การพัฒนาของโปรแกรมบัญชีกําลังเปลี่ยนจาก Desktop เป็นระบบ Cloud หรือที่ในบ้านเราเรียกว่าโปรแกรมบัญชีออนไลน์
เพราะช่วยให้ผู้ใช้งานจากฝ่ายต่าง ๆ นักบัญชีและผู้บริหารสามารถบันทึกและ เข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ผ่านหลากหลาย
อุปกรณ์ ซึ่งการที่ทุกฝ่ายใช้ข้อมูลบนฐานข้อมูลเดียวกันจึงทําให้การแสดงผลทําได้รวดเร็ว ทันใจซ้ำยังไม่ต้องลงทุนค่าใช้
จ่ายก้อนโตในการซื้อเหมือนระบบ Desktop แต่สามารถจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนซึ่งถูกแพงตามขอบเขตของบริการที่เลือก
ใช้

2.Mobile Accounting
ในเมื่อทุกวันนี้ผู้คนต่างสะดวกและชํานาญการใช้ Application ต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงไม่มีข้อยกเว้น สําหรับงานบัญชี
ที่ Cloud Based Accounting Software ได้อํานวยความสะดวกในการพัฒนา Mobile Application ให้สามารถทํางานที่เกี่ยว
กับการออกอินวอยซ์จ่ายเงิน-รับ ชําระหนี้ ฯลฯ ผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตหรือแม้กระทั่ง นาฬิกาอัจฉริยะ แล้วข้อมูลเหล่า
นั้นก็เชื่อมโยงผ่านระบบ Cloud ไปประมวลผลในระบบบัญชีของธุรกิจ

3.Artificial Intelligence (AI)
ขณะนี้ทิศทางการพัฒนาของโปรแกรมบัญชี ระดับสากลเช่น QuickBooks, Xero, Sage และซอฟท์แวร์อื่น ๆ ต่างก็มุ่งไปใน
ทางที่จะนํา AI มาช่วยในการลงรหัสบัญชี บันทึกบัญชีและทําการกระทบยอดรายการ ธนาคาร หรือแม้กระทั้งจัดทําแบบฟอร์ม
ภาษีโดยอัตโนมัติ เพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการทํางานมากขึ้น

4.Optical Character Recognition (OCR)
ในวงการซอฟท์แวร์บัญชีเริ่มนําเทคโนโลยี OCR มาใช้ โดยมีหลาย ๆ Application เช่น Hubdoc Receipt Bank,
Entryless ฯลฯ ที่ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพหรือสแกน ใบเสร็จค่าใช้จ่าย แล้ว App. เหล่านี้จะสามารถแปลงข้อมูลไปบันทึกเป็น
รายการค่าใช้จ่าย ลงรหัสบัญชีและเชื่อมโยงกับ Cloud Based Accounting Software ต่าง ๆ เพื่อเข้าไป ลงบัญชีให้โดย
อัตโนมัติ

สภาวิชาชีพบัญชีมีวัตถุประสงค์ให้นักบัญชีตระหนักและเตรียมตั้งรับกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านบัญชี ที่อาจ
จะมีผลกระทบกับการทํางานในอนาคต และวางแผนในการปรับตัวเพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มิฉะนั้น อาชีพ นัก
บัญชีจะหายไปในอีก 20 ปีข้างหน้า จริงหรือไม่จริง ก็อยู่ที่การก้าวไปในโลก Digital ให้เท่าทัน ซึ่งนักบัญชีอย่าง
เราๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายต้องติดตามกันอย่างตาไม่กระพริบ

โปรดติดตามตอนต่อไป
โดย นางสาวศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชี

Newsletter • Issue 65 Page 24-25