หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561

จ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ มีภาระภาษีอะไรบ้าง?


จ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ มีภาระภาษีอะไรบ้าง?

วารสาร K SME Inspired ฉบับ กันยายน 2561

โดย ศิริรัฐ โชติเวชการ





จ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ มีภาระภาษีอะไรบ้าง?


ความน่าสนใจ
  • ในการทําธุรกรรมระหว่างประเทศ อาจจะมีการจ่ายค่าบริการไปยังต่างประเทศ
  • ค่าบริการใดบ้างที่เข้าข่าย จะต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย หรือ ต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ตรวจสอบให้ดีจะได้ไม่ผิดต่อกฎหมาย และไม่เสียผลประโยชน์เพราะบางประเทศอาจมีข้อยกเว้น หรือ ลดอัตราภาษี

การทําธุรกรรมระหว่างประเทศ อาจจะมีการจ่ายค่าบริการไปยังต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่จะต้องคํานึงถึงก็คือ ค่าบริการเหล่านั้น จะต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย หรือต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
กรณีนี้ขอกล่าวถึงการหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อน จากประสบการณ์ที่เคยเจอ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ในความเป็นจริงนั้น จะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่า
  • จ่ายไปยังประเทศใด
  • จ่ายค่าบริการประเภทไหน
วิธีดูการหักภาษี ณ ที่จ่ายสําหรับการจ่ายค่าบริการ ให้ดูที่กฎหมายหลักก่อน คือมาตรา 70 ซึ่งมีใจความว่า
มาตรา 70
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3){4}(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
การเสียภาษีกรณีนี้ กฎหมายให้เสียโดยวิธีหักภาษี คือ
  • ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวจะต้องหักภาษี จากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามวิธีการ และอัตราดังหัวข้อถัดไป
  • ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะเป็นผู้จ่ายเงินได้ก็ตาม ภาษีที่หักไว้ในกรณีนี้เป็นภาษีที่เสียเด็ดขาด จึงเสร็จสิ้นเป็นรายครั้งไป”

ในการพิจารณาเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่ายในการจ่ายค่าบริการไปยังต่างประเทศนั้น

1 คือต้องพิจารณาว่า ค่าบริการนั้น จัดเป็นเงินได้ประเภท 40(2) จนถึง (6) หรือไม่ ถ้าหลุดจาก 5 ประเภทนี้แล้ว
= ไม่ต้อง หัก ณ ที่จ่าย

2 แต่ถ้าตกอยู่ใน 5 ประเภทนี้ ยังต้อง พิจารณาต่อว่ากิจการของคู่ค้ารายนั้น ตั้งอยู่ในประเทศที่มีการจดอนุสัญญาภาษีซ้อนกับเราหรือไม่
= ถ้ามี อาจจะได้รับยกเว้น หรือลดอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย
สําหรับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็แค่พิจารณาว่าผลของงานบริการนั้นได้ถูกใช้ ในประเทศไทยหรือไม่
ถ้าคําตอบคือใช่ ก็ต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตัวอย่าง
1.การจ่ายค่าโฆษณา
ถ้าบริษัทในประเทศไทยมีการจ่ายค่าโฆษณาใน Search Engine ให้กับบริษัท G. ในต่างประเทศ เรามาพิจารณาว่า ค่าโฆษณาจัดอยู่ในเงินได้ประเภทใด?
คําตอบคือ ค่าโฆษณา จัดอยู่ในเงินได้ประเภท 40(8) ซึ่งไม่ได้ถูกระบุอยู่ในมาตรา 70 ดังนั้น การจ่ายค่าโฆษณาดังกล่าวจึงไม่ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และจึงไม่ต้องพิจารณาต่อว่า คู่ค้านั้นตั้งอยู่ในประเทศใด

ส่วนในการพิจารณาเกี่ยวกับการนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ให้พิจารณาว่า
บริการดังกล่าวนั้น ให้บริการในต่างประเทศ แต่มีการส่งผลของการให้บริการมาใช้ในประเทศไทยหรือไม่

แนววินิจฉัยอันน่ารักของกรมสรรพากรก็คือ
การโฆษณาบน Search Engine นั้น แน่นอนต้อง มีคนในประเทศไทยเห็น จึงถือว่าเป็นบริการ ในต่างประเทศที่นำผลของการบริการมาใช้ในราชอาณาจักร ดังนั้น
  • บริษัทผู้จ่ายเงินได้นี้ ต้องนําส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของค่าบริการ ในนามของบริษัทในต่างประเทศ ด้วยแบบฟอร์ม ภ.พ.36
  • แต่ในขณะเดียวกันบริษัทผู้จ่ายเงินได้ก็สามารถนําใบเสร็จที่ได้จากกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อของบริษัทตนเองได้เช่นกัน
ตัวอย่าง
2 การจ่ายค่า Software
บริษัทในไทยซื้อ Software บัญชี จากคู่ค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา = Software บัญชี จัดเป็นเงินได้ประเภท 40(3) ค่าสิทธิ
  • ผู้จ่ายเงินได้นี้จึงมีภาระในการหัก ณ ที่จ่าย 15% ตามมาตรา 70
  • แต่ยังจ่ายเลยไม่ได้ ต้องมาดูต่อว่า ประเทศสหรัฐฯ นั้นมีการจดอนุสัญญา ภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่
ซึ่งในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรระบุว่ามีจดกันไว้ ฉะนั้นก็ต้องไปดูต่ออีกว่าในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่จดไว้กับประเทศสหรัฐฯ นั้น เขียนเกี่ยวกับเรื่อง Software ไว้อย่างไร

ปรากฏว่าเขาระบุว่าถ้าจ่ายค่า Software ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 5%
ดังนั้น ในกรณีนี้
  • บริษัทผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5%
จากค่าบริการแล้วนําส่งกรมสรรพากรด้วย ภงด.54
  • แต่ถ้าคู่ค้าของเราอยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
ก็จะต้องโดนภาษีหัก ณ ที่จ่ายไป 15% เต็มๆ

ทีนี้มาดูกันว่าจะต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ก็พิจารณาว่าบริการนั้นได้ถูกนํามาใช้ ในประเทศไทยหรือไม่
แน่นอน คําตอบคือ Software นั้นถูกนํามาใช้ในประเทศไทย ดังนั้น บริษัทผู้จ่ายเงินได้นี้
ต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของค่าบริการในนามของบริษัทในต่างประเทศด้วยแบบฟอร์ม ภ.พ.36 แต่ในขณะเดียวกันบริษัทผู้จ่ายเงินได้ก็สามารถนําใบเสร็จที่ได้จากกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อของบริษัทตนเองได้เช่นกัน เส้นตายของการนําส่งภาษีทั้ง 2 ประเภทนั้น คือภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

จะเห็นได้ว่าการจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องระวังและเช็คให้ถี่ถ้วนว่ามีภาระภาษีอะไร อย่างใดบ้าง ซึ่งการตีความว่าเงินที่จ่ายนั้นเป็นเงินได้ประเทศใดหรือการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อน เป็นเรื่องที่ซับซ้อนควรจะต้องปรึกษาคนในวิชาชีพที่มีประสบการณ์ช่วยแนะนําให้จะปลอดภัยกว่า :

K SME Inspired #53 Page 29-32

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561

การใช้ประโยชน์จาก OCR ในวงการบัญชี


บทความ การใช้ประโยชน์จาก OCR ในวงการบัญชี 
โดย.. นางสาวศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชี ด้านการวางระบบบัญชี
กรรมการผู้จัดการบริษัท Network Advisory Team Ltd. (NAT)
ลงใน จดหมายข่าวสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 69 เดือนกันยายน 2561




การใช้ประโยชน์จาก OCR ในวงการบัญชี
 

1.แปลงเอกสารให้เป็นข้อมูล

2.การเชื่อมต่อข้อมูลสู่โปรแกรมบัญชี
 

OCR คืออะไร?

มาดูคําอธิบาย OCR โดย Wikipedia :

“การรู้จําอักขระด้วยแสง (อังกฤษ : Optical Character Recognition) หรือมักเรียกอย่างย่อว่า โอซีอาร์ (อังกฤษ : OCR) คือกระบวนการทางกลไกหรือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแปลภาพของข้อความจากการเขียนหรือจากการพิมพ์ไปเป็นข้อความที่สามารถแก้ไขได้โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ การจับภาพอาจทําโดยเครื่องสแกนเนอร์กล้องดิจิทัล”
เราคงจํากันได้ว่า ในยุคหนึ่งเมื่อเราอยากได้ตัวอย่างเอกสารสําคัญ เช่น รูปแบบสัญญา หรือแบบฟอร์มเอกสารต่าง ๆ เราเคยดีใจที่สามารถให้เพื่อนสแกนเป็นรูปภาพและส่ง Email มาให้เราดูเป็นตัวอย่างได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเราอยากนํามาใช้งานเราก็ต้องมานั่งพิมพ์ใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยเทคโนโลยี OCR ชีวิตเรายิ่งง่ายขึ้น เพราะ OCR คือ เทคโนโลยีที่สามารถแปลงภาพที่ไม่ว่าจะได้จากการสแกน หรือถ่ายภาพ ให้เป็นข้อมูลในรูปแบบของไฟล์ Word หรือ Excel ได้เลย โดยไม่ต้องมานั่งพิมพ์ใหม่ให้เสียเวลา และสามารถแก้ไขข้อความได้
OCR ถูกนํามาใช้งานในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา โดยภาครัฐนั้นนํามาใช้ในกิจการไปรษณีย์ ส่วนภาคเอกชนที่บุกเบิกในการใช้ประโยชน์จาก OCR คือ The Reader's Digest สื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เช่นกัน
ส่วนในปัจจุบันที่เราพอจะคุ้นเคยกัน คือ การใช้โปรแกรม Adobe Acrobat and Google Drive ในการแปลงภาพหรือไฟล์ ที่สแกน ให้เป็นรูปแบบของไฟล์ Word หรือ Excel ได้เลย

การใช้ OCR ในวงการการเงินและบัญชี
เริ่มจากปี ค.ศ. 1966 IBM ได้เริ่มนํา OCR มาใช้กับเครื่องรูดบัตรเครดิต จนกระทั่งถึงปัจจุบันในวงการบัญชีได้มีการพัฒนา OCR ในรูปแบบของโปรแกรม เพื่อแปลงรูปภาพ แล้วเลือกเฉพาะข้อมูลที่ต้องการนําไปเก็บไว้ เพื่อให้โปรแกรมบัญชีมาเชื่อมต่อและนําข้อมูลไปบันทึกบัญชีได้เลย โดยไม่ต้องบันทึกซ้ำ Application ที่เป็นที่นิยม และสามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรมบัญชีได้หลากหลาย ซึ่งมีอยู่หลายตัว ได้แก่ Hubdoc, Receipt Bank และ Expensify เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น โปรแกรมบัญชีชั้นนําอย่าง QuickBooks, Xero, Sage & etc. ถึงกับประกาศว่าจะมุ่งพัฒนาที่จะนํา OCR มาใช้เพื่อให้การบันทึกบัญชีเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องอาศัยนักบัญชีอีกต่อไป
เหตุผลที่ในวงการบัญชีหันมาสนใจ ในการนํา OCR มาใช้ ก็เพราะ..
01 ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
เพราะการใช้ OCR ในการบันทึกบัญชี ช่วยประหยัดเวลาถึง 75% จากเดิมที่ใช้นักบัญชีในการบันทึกบัญชี
02 ลดความผิดพลาดในการบันทึกบัญชี
เพราะการบันทึกด้วย OCR มีความถูกต้อง แม่นยํากว่าการทํางานของมนุษย์
03 ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของโลก
เพราะข้อมูลจะถูกบันทึกไว้ใน Cloud server และเรียกดูได้ โดยไม่ต้องเปลืองกระดาษในการพิมพ์ สามารถทํานายได้ว่า ในอนาคตเราจะได้เห็น สํานักงานไร้กระดาษ ในแผนกบัญชีของบริษัทต่าง ๆ อย่างแน่นอน
04 ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานบัญชี
เพราะการบันทึกบัญชีที่มีปริมาณมากแบบเดิม สร้างความเครียดในการทํางานอย่างมาก เมื่อนํา OCR มาใช้ พนักงานบัญชีสามารถใช้เวลาที่
เหลือไปทํางานที่สําคัญกว่านั้น เช่น การวิเคราะห์ตัวเลขทางบัญชีหรือช่วยวางแผนด้านการเงิน เป็นต้น

การทํางานของ Application เหล่านี้ก็คือตัวหลักจะเป็น Cloud Based และจะมีตัวแถม คือ Application ที่สามารถติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะอํานวยความสะดวกมาก ในเวลาเราไปซื้อสินค้าเราสามารถถ่ายภาพใบเสร็จเก็บไว้แล้ว App.นั้นจะอ่านและเลือกเฉพาะข้อมูลสําคัญทางบัญชีไปเก็บไว้ในไฟล์ เพื่อรอเชื่อมต่อกับโปรแกรมบัญชี เพื่อให้นักบัญชีนําไปตรวจสอบ ก่อนจะบันทึกบัญชีด้วยการคลิกเพียง ครั้งเดียว
อยากทราบแล้วใช่มั้ยว่า โปรแกรมเหล่านี้ทํางานยังไง ?
ขั้นตอนการทํางานจะเป็นดังนี้
1. การแปลงเอกสารให้เป็นข้อมูล
เมื่อสมัครเป็นลูกค้าแล้ว เราสามารถส่งเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จ Invoice ฯลฯ เข้าสู่โปรแกรม ซึ่งมีหลายวิธี ในการส่งเอกสาร คือ
1.1 Mobile phone : ถ่ายรูป Invoice หรือเอกสารทางบัญชีใด ๆ จาก App. ที่ติดตั้งไว้ในโทรศัพท์มือถือ
1.2 Email : เมื่อสมัครเป็นลูกค้าจะได้รับ Email ที่สามารถใช้ส่งเอกสารที่ต้องการ เข้าสู่ Server ของโปรแกรมทาง Email เพื่อแปลงและแยกข้อมูลทางบัญชี ที่ต้องการไปเก็บไว้
1.3 Scan : สแกนเอกสาร ทางบัญชีแล้ว upload ไปยังโปรแกรมนั้นเอกสาร ที่มาจากแหล่ง 1 - 3 จะถูกแปลงเป็นข้อมูลเพื่อรอการนําไปบันทึกบัญชี
โดยขอยกตัวอย่างจากวิธีที่ 1.1 เพื่อความเข้าใจ
จากภาพถ่ายของใบเสร็จ ในข้อ 1.1 โปรแกรมจะใช้ OCRในการแปลงภาพ และแยกเป็นข้อมูลที่สําคัญในการบันทึกบัญชี ออกมาเป็นส่วน ๆ เช่น ชื่อผู้ขาย วันที่ วิธีการจ่ายเงิน และจํานวนเงิน เป็นต้น เพื่อรอไว้เชื่อมต่อไปบันทึกข้อมูลในโปรแกรมบัญชีโดยอัตโนมัติ ข้อมูลที่ได้จากวิธีอื่น ๆ ก็จะถูกแปลง เป็นข้อมูลที่พร้อมต่อการบันทึกบัญชีตามแนวทางเดียวกัน

2. การเชื่อมต่อข้อมูลสู่โปรแกรมบัญชี
ตามที่ได้เคยกล่าวไว้ในฉบับก่อนว่าประโยชน์ของ Cloud Based Accounting คือการเปิดกว้างให้ Application ต่าง ๆ มาเชื่อมต่อ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลมาบันทึกบัญชี เมื่อเราเข้าไปใช้งานโปรแกรมบัญชีที่สามารถเชื่อมต่อกับ OCR โปรแกรมได้ เราจะสามารถดึงข้อมูลที่ OCR ได้เก็บไว้ให้มาลงบัญชี โดยไม่ต้องบันทึกบัญชีอีก เช่น เลขที่เอกสาร ชื่อคู่ค้า ชื่อและรหัสสินค้า จํานวนเงิน จํานวนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าช่วยประหยัดเวลาการบันทึกบัญชีได้มาก และสําหรับรายการที่เกิดขึ้นประจํา เราสามารถกําหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะลงรหัสบัญชีอะไร เช่น กําหนดว่า ถ้าชื่อคู่ค้าคือ การไฟฟ้า เราจะให้บันทึกเป็นค่าไฟ โดยอัตโนมัติ ดังนั้น นักบัญชีเพียงแต่ตรวจข้อมูลเหล่านั้นกับภาพถ่ายของเอกสาร เช่น Invoice ที่จะส่งมาด้วยกันกับข้อมูลอีกครั้ง หากถูกต้อง ก็เพียงแต่กด Enter เพียงครั้งเดียว ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกบันทึกในระบบบัญชีทันที

จะเห็นได้ว่า OCR ช่วยให้พัฒนาการของการจัดทําบัญชี เปลี่ยนจากการที่ต้องบันทึกข้อมูลในปริมาณมาก ๆ โดยนักบัญชีไปสู่ยุคของการที่ข้อมูลทางบัญชีไหลจากแหล่งหนึ่งไปอีกแหล่งหนึ่ง ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และมีการบันทึกบัญชีโดยอัตโนมัติหรืออาศัยการบันทึกข้อมูลที่ใช้เวลาน้อยกว่าเดิม เพียงหนึ่งสัมผัสของปลายนิ้ว (One click) เท่านั้น

จากการที่ผู้เขียนได้เล่าถึงการนํา Cloud Based Accounting Software, Mobile Accounting, Al และ OCR มาใช้ในวงการบัญชี ทราบว่ามีหลายท่านโทรเข้ามาสอบถาม ที่สภาวิชาชีพบัญชีว่า เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจริงหรือ ขอตอบว่า จริงแท้แน่นอนค่ะ และสภาวิชาชีพบัญชี โดย คณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชีมีแผนการจัดสัมมนา เพื่อนําเสนอให้ท่านเห็นกับตาเลยว่า เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ค่ะ ถ้าอยากให้สัมมนานี้เกิดขึ้น ฝากช่วยกันแจ้งความจํานงมาที่สภาวิชาชีพบัญชีด้วยนะคะ ถ้ามีจํานวนมากพอเราน่าจะจัดให้ได้ค่ะ ขอบคุณและสวัสดีค่ะ

โดย..นางสาวศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชี

ด้านการวางระบบบัญชี


Newsletter • Issue 69 Page 15-17