หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563

ชี้! ทางออก "บัญชี-การเงิน" ฝ่าวิกฤต COVID-19 วารสาร K SME Inspired ฉบับที่72 ประจำเดือน เมษายน 2563

วารสาร K SME Inspired ฉบับที่72 ประจำเดือน เมษายน 2563

ชี้! ทางออก "บัญชี-การเงิน" ฝ่าวิกฤต COVID-19

โดยศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Network Advisory Team Ltd.












ชี้! ทางออก "บัญชี-การเงิน" ฝ่าวิกฤต COVID-19


ถึงตอนนี้กล้าพูดได้ว่า วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม สร้างความตระหนกและวิตก กังวลให้กับทุกคนอย่างถ้วนหน้า แต่ก่อนอื่นอยากให้ผู้ประกอบการทุกคน “ตั้งสติ” ให้ดี แล้วค่อยๆ คิดวางแผนว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

สำรวจตัวเลขสถานะการเงิน และค่าใช้จ่าย
สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำทันที นั่นคือ ของบการเงินชุดล่าสุดจากฝ่ายบัญชี เพื่อดูว่าในภาวะที่รายได้ลดน้อย จนถึงไม่มีเลยนั้น ผู้ประกอบการจะต้องทำอะไรบ้าง?

1.ลดรายจ่าย
ในเวลาแบบนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่า การประหยัดในทุกๆ เรื่อง สำรวจดูว่ามีรายจ่ายอะไรที่สามารถตัดออกได้ในยามนี้ เช่น เคยเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร แผนกละเครื่อง ตอนที่มีงานมากๆ ในภาวะที่งานน้อยลงและต้อง Work from Home นี้ ควรจะลดการเช่าลงเหลือเท่าที่จำเป็น เป็นต้น
2.จัดทำประมาณการ งบประมาณรายได้-รายจ่ายใหม่
ภายใต้สมมุติฐาน 2 แบบคือ เมื่อรายได้ลด 50% และเมื่อไม่มีรายได้เข้ามาเลย เพื่อเริ่มควบคุมการใช้จ่ายอย่างเข้มข้น
3.ปรับระบบบัญชีให้เป็นระบบออนไลน์
ในภาวะวิกฤตที่ทุกองค์กรต้องมีการ Work from Home น่าจะเป็นเวลาที่ดีที่ทุกคนจะมาปฏิวัติระบบบัญชีที่ใช้อยู่ให้เป็นระบบออนไลน์ เพื่อรองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต เพราะการทำบัญชีแบบออนไลน์จะทำให้ผู้ประกอบการได้งบการเงินแบบ Real Time ที่จะสามารถนำมาตัดสินใจได้อย่างทันการณ์ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตต่างๆ แบบนี้ และถ้ามองในมุมบวก การเกิดวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคน เข้าสู่โลกออนไลน์เร็วกว่าที่คิด
ใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลือของภาครัฐ
ขั้นต่อมา เมื่อตรวจเช็กสุขภาพธุรกิจของตนเองแล้ว อย่าลืมมองหาความช่วยเหลือจากส่วนงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งในภาวะเช่นนี้ผู้ประกอบการไม่มีทางโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน จะเห็นได้ว่าเวลานี้ เริ่มมีมาตรการต่างๆที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจ ลองสำรวจดูว่าจะใช้ประโยชน์จากมาตรการใดได้บ้าง โดยจะยกตัวอย่างที่เด่นๆ มาอัปเดต ให้ผู้ประกอบการได้รู้กัน
มาตรการ ช่วยผ่อนคลายการเงิน
สถาบันการเงินปล่อยกู้ 2 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% (Update : 20 มี.ค.63)
มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย หรือยืดอายุชำระหนี้
มาตรการยืดหยุ่นในการอนุมัติ วงเงินสินเชื่อ
สินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ รายย่อย ดอกเบี้ย 3% สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี (Update : 24 มี.ค.63)
มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ คืนเงินมัดจำ ค่ามิเตอร์ไฟฟ้า (Update : 17 มี.ค.63)
มาตรการทางภาษี
ปรับลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การจ้างทำของ จาก 3% เป็น 1.5% หรือ 2% ขึ้นอยู่กับระยะเวลา
**กรณีถ้าเป็นธุรกิจบริการก็จะได้ประโยชน์คือ ถูกหักภาษีน้อยลง ทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
คืน VAT ให้กับผู้ประกอบการส่งออกที่ดีให้เร็วขึ้น โดยหากยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตจะคืนให้ภายใน 15 วัน แต่ถ้ายื่นแบบกระดาษจะคืนให้ภายใน 45 วัน
เฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และทำบัญชีชุดเดียว สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายระหว่าง วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.63 ไปหักเป็น รายจ่ายได้ 1.5 เท่า
และเพื่อสนับสนุนให้มีการรักษาลูกจ้างไว้ สามารถนำค่าจ้างในส่วนของลูกจ้างที่มีค่าจ้าง<=15,000- ในช่วง วันที่ 1 เม.ย.-31 ก.ค.63 ไปหักเป็นรายจ่ายได้ 3 เท่า
โดยจำนวนลูกจ้าง ในช่วงดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่า เดือน ธ.ค.62
มาตรการนี้ดูเหมือนเป็นเสือกระดาษ มีเพียงตัวเลขทางบัญชีภาษี แต่ถ้ามองโลกในแง่บวก ในภาวะแบบนี้ที่ผลประกอบการน่าจะออกมาเป็นลบการหักค่าใช้จ่ายได้หลายเท่าก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต เพราะสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรในอนาคตได้ภายใน 5 รอบบัญชี   
(Update : 11 มี.ค.63)
มาตรการทางภาษี (ต่อ)
เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินได้บุคคลธรรมดา
เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการนำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ (พิจารณาเป็นรายกรณี)
ขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ น้ำมัน
มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Update : 24 มี.ค.63)
มาตรการจากประกันสังคม
ส่วนที่ช่วยบรรเทาภาระการเงิน ของกิจการ
ลดอัตราเงินสมทบ เหลือ 4% เป็นเวลา 6 เดือน (มี.ค.-ส.ค.63)
ขยายเวลาส่งเงินสมทบ ช่วง มี.ค.-พ.ค.63 ออกไปอีก 3 เดือน
ส่วนที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างหรือพนักงาน
เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน
**กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งกรณีไม่ได้ทำงานจะได้รับเงิน 50% ของค่าจ้างเป็นเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือ
**กรณีหยุดกิจการชั่วคราวจะได้รับ เงิน 50% ของค่าจ้างเป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน (Update : 22 มี.ค.63)
เงินสนับสนุนช่วยเหลือแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) (Update : 24 มี.ค.63)
สุดท้ายนี้ อยากจะย้ำเตือนว่าในภาวะนี้สิ่งที่สำคัญคือ “อย่าเครียด” เพราะเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับเรา แต่เกิดกับธุรกิจทั่วโลก การตั้งสติอยู่กับปัจจุบันสำคัญกว่าสิ่งใด เพื่อให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาอย่างตรงเป้า ขอให้ทุกท่านโชคดี เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

K SME Inspired #72 Page 67 - 73

ไม่มีความคิดเห็น: