ปิดงบบัญชี’61 อย่างไร ให้ปลอดภัยจากการมาเยือนของสรรพากร?
วารสาร K SME Inspired ฉบับ มีนาคม 2562
โดย ศิริรัฐ โชติเวชการ
ปิดงบบัญชี’61 อย่างไร ให้ปลอดภัยจากการมาเยือนของสรรพากร?
โดย ศิริรัฐ โชติเวชการ
เชื่อว่าตอนนี้ นิติบุคคลส่วนใหญ่กำลังง่วนกับการปิดงบบัญชี ปี พ.ศ.2561 เพื่อยื่นภาษีให้ทันภายในปลายเดือนพฤษภาคม 2562
หลายท่านคงเคยอ่านข่าวเกี่ยวกับนโยบายของท่านอธิบดีกรมสรรพากร เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ตั้งเป้าว่า
ในปี พ.ศ.2561 จะทำระบบวิเคราะห์ข้อมูล
พ.ศ.2562 จะเชื่อมระบบข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน
พ.ศ.2563 การเก็บภาษีของกรมสรรพากรจะเป็น ระบบ AI เต็มตัว ระบบจะสามารถรู้ได้ เลยว่าผู้เสียภาษีคนไหนยังเสียภาษีไม่ครบ โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
ดังนั้น การปิดงบปี พ.ศ.2561 จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่บรรดานิติบุคคลจะต้องตรวจตราให้ดีก่อนที่จะอนุมัติงบการเงินจากตัวเลขที่นักบัญชีหรือสำนักงานบัญชีปิดงบมาให้ เพราะการใช้ AI ในการตรวจเช็กความผิดปกติของงบการเงินได้เริ่มขึ้นแล้ว
โดยกรมสรรพากรเองก็ได้ออกมาเตือนว่า กรมสรรพากรได้มีการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ พูดง่ายๆ คือ ระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ ในการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เสียภาษีที่เป็นนิติบุคคล และถ้าเจ้า AI ตรวจเจอว่า งบการเงินของกิจการใดมีประเด็นความเสี่ยง ก็จะมีคำสั่งจากส่วนกลางไปยังสรรพากรเขตที่กิจการนั้นตั้งอยู่ ให้ทำการตรวจสอบ ประเด็นต่างๆ ที่เจอและสรรพากรเขตก็มีหน้าที่ตรวจและรายงานผลภายในเวลาที่กำหนด โดยไม่ได้มีสิทธิที่จะเลือกเองว่าจะตรวจหรือไม่ตรวจรายใด ดังที่เคยเป็นในระบบเดิม
สำหรับประเด็นยอดฮิตที่เขาตั้งเกณฑ์ไว้ให้เจ้า AI คอยตรวจจับมี 8 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญ และถ้าปิดงบครั้งนี้ท่านยังปล่อยให้งบของท่านติดเกณฑ์ ความเสี่ยงเหล่านี้ ก็ให้เตรียมตัวรับบัตรเชิญจากกรมสรรพากรไว้ได้เลย
1.ขาดทุนขั้นต้น
ในการทำมาค้าขายนั้น ถ้าเรามีตัวเลขขาดทุนขั้นต้นคือ เมื่อเอายอดขายหักด้วยต้นทุนขายแล้วติดลบนั้น ถือเป็นความผิดปกติอย่างไม่น่าให้อภัย หากเจ้า AI พบว่ากิจการของท่าน มีสภาวะขาดทุนขั้นต้น เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องถูกเรียกตรวจสอบเพื่อเจาะลึกไปถึงความถูกต้องของยอดขาย ต้นทุนขาย ต้นทุนการผลิต และการคํานวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ
ยกตัวอย่าง ยอดขายไม่ถูกต้อง เพราะท่านอาจจะตั้งราคาขายต่ำกว่า ราคาตลาด เป็นต้น
2.ขาดทุนสะสมมากกว่าทุนชำระ
การที่งบการเงินใดมีขาดทุนสะสมมากกว่าทุนนั้น แสดงว่าการประกอบกิจการโดยมีผลขาดทุนมาโดยตลอด และสะสมมาจนเกินกว่าเงินลงทุน เป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า น่าจะแสดงรายได้ไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ท่านจะต้องถูกตรวจเชิงลึกทั้งด้านรายได้ ต้นทุนการ ผลิต ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ํ เพื่อพิสูจน์ความครบถ้วนถูกต้อง
3.สินค้าคงเหลือมากผิดปกติเมื่อเทียบกับรายได้
ท่านจะเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจแสดงยอดขายไม่ครบถ้วน และถูกตรวจสอบความครบถ้วนของการบันทึกรายรับ รวมไปถึงการตรวจนับสินค้าคงเหลือเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง และความมีอยู่จริงของรายการสินค้าคงเหลือปลายงวดด้วย เพราะอาจมีการขายที่ไม่แสดงไว้และกำหนดสินค้าคงเหลือขึ้นมาโดยไม่มีสินค้าจริง
4.ยอดขายตาม ภ.พ.30 ต่างกับยอดรายรับในงบการเงิน
ประเด็นความเสี่ยงข้อนี้มาจากสมมุติฐานที่ว่าถ้าเป็นกิจการทั่วไปที่ขายสินค้าในประเทศอย่างเดียว ยอดขายที่ต้องเสียภาษีตามแบบ ภ.พ.30 กับยอดรายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ควรจะเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงการที่ยอดขาย ตาม ภ.พ.30 ต่างกับยอดรายรับในงบการเงินอาจจะเกิดขึ้น โดยผู้เสียภาษีไม่ได้ทำผิดอะไร
ยกตัวอย่าง เช่น ในธุรกิจบริการซึ่งรับรู้ VAT เมื่อได้รับชำระเงิน ย่อมจะมีผลต่างตรงนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อกรมสรรพากรได้ตั้งประเด็นนี้ให้เจ้า AI ตรวจจับ ผลที่เกิดขึ้น คือ มีกิจการถูกเรียกตรวจมากมาย จนเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการที่ต้องมาเสียเวลากระทบยอดขายยืนยันตัวเลขเพื่อปกป้องตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอแนะนำให้กิจการนิติบุคคลที่มีผลต่างดังกล่าวเตรียมกระทบยอดไว้เลย เพราะถ้าเงื่อนไขนี้ยังอยู่ ท่านต้องโดนเรียกตรวจสอบแน่นอน
5.มีเงินให้กู้ยืมแต่ไม่มีดอกเบี้ยรับ
หมายถึงในงบดุลแสดงรายการลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแต่ไม่ปรากฏรายการดอกเบี้ยรับในงบกําไรขาดทุน จะถูกประเมินดอกเบี้ยรับและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับนั้น ยิ่ง ไปกว่านั้นหากพบว่าไม่มีการโอนเงินให้แก่ผู้กู้จริงอาจถูกมองว่าเป็นการสร้างรายการทางบัญชีจากเงินสดที่ได้จากการขาย แต่ไม่บันทึกเป็นรายได้
6.มีค่าใช้จ่ายด้านที่ปรึกษา นายหน้า ฯลฯ สูงผิดปกติ
เป็นที่รู้กันว่าเมื่อปิดงบการเงินออกมาแล้ว พบว่ากิจการมีกำไรมาก ผู้ประกอบการมักจะนิยม เพิ่มค่าใช้จ่าย ด้วยการตั้งค้างจ่ายค่านายหน้า ค่าที่ปรึกษา ฯลฯ เพื่อให้กำไรลดลง แต่กรมสรรพากรก็รู้เท่าทันเกมเหล่านี้ของผู้ประกอบการเช่นกัน จึงสั่งเจ้า AI ให้คอยตรวจจับประเด็นนี้ด้วย ดังนั้น ก่อนปิดงบให้ตรวจสอบว่าท่านมี รายการดังกล่าวที่พิสูจน์ได้ว่าใช้บริการจริง ในราคาที่สมเหตุผลหรือไม่
7.มียอดรายได้จากการโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย มากกว่ารายได้ในงบฯ
รายได้บางตัวที่เราอาจจะเผลอโดยตั้งใจ หรือไม่ก็ตาม ไม่นำมาลงบัญชีขาย แต่ปรากฏว่า รายการนั้นถูกลูกค้าหักภาษี ณ ที่จ่ายและไปรายงานต่อกรมสรรพากรไว้ว่าเป็นรายได้ของเรา ทำให้เจ้า AI ตรวจเจอและถือว่าเรามีความเสี่ยงที่จะลงบัญชีรายได้ไว้ไม่ครบถ้วน
8.ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายข้ามรอบบัญชี/ทำรายจ่ายเท็จ
ข้อนี้มักจะมาจากผลพวงของข้อ 6 คือ มีการตั้งค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ค่านายหน้าหรือค่าที่ปรึกษาไว้ในงวดก่อนๆ แต่ไม่มีการจ่ายออกไปจริง ภายในรอบบัญชีถัดไป กรม สรรพากรก็จะสันนิษฐานว่าท่านทำรายการเท็จ และจะถูกบวกกลับทำให้กำไรเพิ่มขึ้นและเสียภาษีย้อนหลังให้เขาไปตามระเบียบ
ดังนั้น ก่อนปิดงบการเงินประจำปี พ.ศ.2561 ที่จะต้องยื่นแบบภายในปลาย เดือนพฤษภาคม 2562 ก่อนจะจรดปากกาเซ็นอนุมัติงบฯ ควรตรวจทานให้แน่ใจเสียก่อนว่างบการเงินของท่านไม่มีประเด็นความเสี่ยงเหล่านี้
K SME Inspired #59 Page 63 -69